Do you know the story of Thailand "sanitary napkins"?
ช่วงปลายปี 2562 ประเทศไทยตกอยู่ในกระแสข้อถกเถียงเรื่องเก็บภาษีผ้าอนามัย หากเอ่ยถึงภาษีผ้าอนามัย ลองไปค้นข้อมูลพบว่า ปัจจุบันหลายประเทศอย่างออสเตรเลีย แคนาดา และอินเดีย ฯลฯ ยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยไปแล้ว โดยประเทศแรกที่มีการยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยได้แก่ ประเทศเคนยา ยกเลิกการเก็บภาษีเมื่อปี 2547
หากย้อนไปไกลกว่าขั้นตอนยกเลิกภาษี แล้ว “ในวันนั้นของเดือน” ผู้หญิงไทยเราใช้ผ้าอนามัยเมื่อใด
เอนก นาวิกมูล เขียนไว้ “แรกมีในสยาม ภาค 1” สันนิษฐานว่า น่าจะเข้ามาประเทศไทยในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ต้นรัชกาลที่ 7
เมื่อเริ่มมีผ้าอนามัยแบบสำเร็จรูป เรียกว่า “ผ้าซับระดู” จำหน่ายในราคาโหลละ 3 บาท ซึ่งมีหลักฐานเก่าแก่สุดที่พบเป็นโฆษณาขายผ้าซับระตู หรือผ้าซับระดูในหนังสือ “ข่ายเพ็ชร์” ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม ปี 2468 ของร้านประเสริฐโอสถ ถนนบ้านหม้อ พระนคร ความว่า
“ถูกกว่าห้างฝรั่ง ผ้าซับระดูซึ่งซื้อขายกันที่ห้างฝรั่งเป็นราคาโหล 1 ตั้ง 3 บาทนั้น ถ้าท่านไปซื้อที่ “ประเสริฐโอสถ” จะได้ถูกกว่าห้างฝรั่งตั้งครึ่งตัว รับรองได้ว่าเป็นของดีเท่าทั้นกับห้างฝรั่งเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น คนไทยควรจะไม่ลืมร้านของไทยเสียเลยมิใช่ฤา?…”
ต่อมาปี 2485 ผ้าอนามัยยี่ห้อ โกเต๊กซ์ (Kotex) ของบริษัทคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค ซึ่งเป็นผ้าอนามัยที่มีห่วงคล้องกับเอว และมีตะขอเกี่ยวอยู่ด้านหลัง แม้จะมีขนาดและวิธีใช้จะไม่สะดวกสบายเท่าปัจจุบัน แต่ในยุคนั้นก็นับว่าสะดวกสบายมากทีเดียว
ในระยะแรกแพร่หลายเพียงในกลุ่มสตรีชั้นสูงที่อยู่ในเมืองเท่านั้น เพราะการใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งออกจะฟุ่มเฟื่อยเมื่อเทียบกับการใช้ผ้าประจำเดือนที่ใช้แล้วซักทำความสะอาด
แต่ผ้าอนามัยยี่ห้อโกเต็กซ์ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา จนเรียกผ้าอนามัยทั่วไปว่า “โกเต๊กซ์” กันอยู่พักใหญ่
หากการแข่งขันในตลาดผ้าอนามัยรุนแรงมากขึ้น ในปี 2511 เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตภายในประเทศและเกิดยี่ห้อใหม่อย่าง เซลล๊อกซ์ ที่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ผ้าอนามัยแถบปลาย ที่แม้จะยังต้องใช้สายคาด แต่ก็ตอบโจทย์เรื่องการแต่งตัวได้มากขึ้น
ปี 2515 ผ้าอนามัยแบบแถบกาวเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ เนื่องจากผู้ผลิตสั่งเครื่องจักรผิดแบบ ความสะดวกของผ้าอนามัยแบบแถบกาว ทำให้ผ้าอนามัยแบบห่วง และแบบแถบปลายมีขนาดตลาดที่เล็กลงและเลิกผลิตไปในที่สุด
ต่อมา ผ้าอนามัยก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้นเรื่อย ไม่ว่าจะเป็นแบบมินิ, แบบทีนเอจ ฯลฯ โดยรวมคือมีขนาดที่เล็กและบางลง ตลอดจนความเหมาะสมกับการใช้งานในวันมามากมาน้อย เพื่อให้เกิดความสะดวกและตอบสนองกับแฟชั่นและการใส่เสื้อผ้าที่รัดรูป รวมถึงการพกพาเมื่อผู้หญิงต้องออกจากบ้านมากขึ้น ตามบทบาทในสังคม เช่น ไปทำงาน,เรียนหนังสือ ฯลฯ
หลังปี 2526 ความเชี่ยวชาญในการผลิตเริ่มเปลี่ยนจากสหรัฐอเมริกา เริ่มมีคู่แข่งจากโลกตะวันออก อย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งค้นพบเทคโนโลยีใหม่ในการผลิต คือ Polymer Gel ที่มีลักษณะเป็นเม็ดทรายละเอียด สามารถดูดซึมน้ำได้ดีหลายเท่าตัว ผ้าอนามัยก็บางลงเรื่อยจากความหนาเป็นเซ็นติเมตร ก็เหลือเพียงไม่กี่มิลลิเมตร ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้หญิงรุ่นใหม่
ปล. ในสหรัฐอเมริกา ศูนย์การค้าในชิคาโก เริ่มขายผลิตภัณฑ์ “ผ้าอนามัย” กล่องแรกเมื่อตุลาคม ปี ค.ศ. 1919 สภาพการขายในเวลานั้น ว่ากันว่า ค่อนข้างกระอักกระอ่วนระหว่างพนักงานขายที่เป็นบุรุษ ขณะที่ลูกค้าเป็นสตรี แต่ชื่อผลิตภัณฑ์ “Kotex” เป็นปัจจัยสำคัญที่แก้ไขปัญหานี้ โดยบริษัทผู้จำหน่ายสร้างแคมเปญโฆษณาที่เปลี่ยนแปลงมุมมอง “วันนั้นของเดือน” สำหรับผู้หญิงในช่วงยุค 20s
บริษัทใช้สโลแกนว่า “Ask for them by name” (หรือ “เรียกหาผลิตภัณฑ์ด้วยชื่อของมัน”) ผู้ศึกษาเรื่องการสื่อสารมวลชนมองว่า มันกลายเป็นสโลแกนสำคัญของบริษัท การเข้าไปซื้อโดยเรียกว่า “Kotex” ช่วยให้สุภาพสตรีไม่ต้องเอ่ยถึงเรื่องวันนั้นของเดือนในที่สาธารณะ โดยเฉพาะกับพนักงานขายที่เป็นบุรุษ